อะไรคือ ไคติน – ไคโตซาน
ไคติน ไคโตซาน เป็นสารที่พบได้จากธรรมชาติ มีอยู่ในสัตว์ประเภทที่มีเปลือกหุ้ม เช่น ปู กุ้ง แมลงต่างๆเป็นต้น คุณประโยชน์ของ ไคติน ไคโตซานเป็นสารที่มีความจำเป็นต่อเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งนอกจากอาหารหลักทั้ง 5 หมู่ ที่ร่างกายต้องการได้แก่ คาร์โบไฮเดต โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่แล้ว ไคติน ไคโตซานจึงเป็นอาหารเสริมที่ให้ร่างกายรักษาความพอดีในการใช้ประโยชน์จากสารอาหารหลัก 5 หมู่ ให้มีประโยชน์สูงสุด ดังนี้
1.ไคติน ไคโตซาน ทำให้ร่างกายแข็งแรง สร้างภูมิคุ้มกันโรค ร่างกายของ คนเรามีความสามารถในการป้องกันและสามารถรักษาโรคได้ด้วยตัวเอง คือ สร้างภูมิคุ้มกันซึ่งถ้าภูมิคุ้มกันสามารถทำงานได้อย่างดีแล้วแม้ว่าจะมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย หรือเกิดเชื้อโรค หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติเกิดขึ้นในเซลล์ ระบบภูมคุ้มกันก็จะมีการทำงานที่กำจัดสิ่งดังกล่าวออกไปจากร่างกายได้
2. ไคติน ไคโตซาน ช่วยลดคอเลสเตอรอล และไขมัน รวมทั้งจับสารโลหะหนักที่เข้าไปในร่างกาย แล้วขับถ่ายออกมาทางอุจจาระ ทำให้ร่างกายมีคอเลสเตอรอลและไขมันอยู่ในระดับที่พอเหมาะ ซึ่งช่วยป้องกันโรคไขมันในหลอดเลือดหัวใจ ไขมันในตับ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคตับอักเสบ และป้องกันอาการเกิดพิษจากโลหะหนัก กำจัดอิออนของเกลือ ( สารประกอบของโซเดียมคลอไรด์ ) ทำให้ปริมาณเกลือในเลือดลดลง ความดันโลหิตก็จะไม่สูงขึ้น
3. ไคติน ไคโตซาน ช่วยเพิ่มแบคทีเรียไบพิดัส ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในลำไส้ ทำให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น และยับยั้งเชื้อแบคทีเรียอี.โคไล ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร
4. ไคติน ไคโตซาน ช่วยปรับสภาพภายในกระเพาะอาหารและลำไส้จากสภาพที่เป็นกรด ซึ่งมีโอกาสเกิดโรคภัยไข้เจ็บ ให้เป็นสภาพที่เป็นด่าง เพื่อให้การทำงานของเซลล์ดีขึ้น และกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันโรค
ผลการวิจัยและทดลองใช้สารไคติน ไคโตซานในด้านต่างๆ ทางการแพทย์
ด้านโรคกระดูก ในแง่การบรรเทาโรคกระดูกหรือปวดตามข้อนั้น เนื่องจากไคโตซานเป็นแหล่งของกลูโคซามีน (Glucosamine) ซึ่งเป็นสารประกอบต่อต้านการอักเสบที่สังเคราะห์ได้ในร่างกายมนุษย์จากกลูโคส (Glucose) จากการทดลองในสัตว์พบว่า กลูโคซามีนช่วยรักษาโรคข้อเสื่อม (Degenerative joint disease) โดยการตอบสนองต่อการรักษาดังกล่าวภายใน 4 สัปดาห์ กลูโคซามีนช่วยในการทำให้การเคลื่อนไหวคล่องตัวขึ้น และทำให้หายปวดในสัตว์ การที่กลูโคซามีนสามารถทำให้เกิดผลแบบนี้ได้นั้น กล่าวกันว่าเป็นเพราะกลูโคซามีนไปกระตุ้นให้มีการสร้างโปรตีโอไกลแคน (Proteoglycan) ซึ่งโปรติโอไกลแคนที่ถูกสร้างขึ้นใหม่นี้ จะไปทำให้ผนังหุ้มเซลล์แข็งแรงและอยู่ตัว จึงทำให้มีผลต่อการป้องกันการอักเสบต่างๆ ได้ นอกจากนี้ กลูโคซามีนยังไปลดการสร้างอนุมูลอิสระพวกซูเปอร์ออกไซด์ของแมคโครฟาจ (Macrophages) และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์จำพวกไลโซไซม์ได้อีกด้วย เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการทดลองในคนไข้ที่มีอาการเข่าและกระดูกหลังช่วงล่างอักเสบและปวด (Leffler et al., 1999) จากคนไข้ 34 คน ทุกคนมีอาการบรรเทาจากเข่าอักเสบ แต่อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับกระดูกสันหลังยังต้องการข้อมูลยืนยันมากกว่านี้ เช่นเดียวกับ Houpt และคณะ (1999) ได้รายงานว่า กลูโคซามีนไฮโดรคลอไรด์ (Glucosamine hydrochloride) มีผลในการรักษาคนไข้ที่เป็นโรคเข่าได้ หลังจากรับประทานไคโตซานจะมีการปลดปล่อยกลูโคซามีนออกมาอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็มีการขับถ่ายออกไปอย่างรวดเร็ว จากการศึกษาพบว่า การบริโภคไคโตซาน 1 กรัมต่อวัน จะมีปริมาณของ N-acetylglucosamine ในเซรุ่มสูงในช่วง 48 ชั่วโมงแล้วจะถูกขับออก แต่ระดับกลูโคสในเลือดไม่มีการเปลี่ยนแปลง ผลนี้เป็นการยืนยันได้ถึงประสิทธิภาพของการรับประทานไคโตซานเพื่อการรักษาคนไข้โรคเข่าโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการตกค้าง (Setnikar et al., 1993) และจากการทดลองพบว่าไคโตซานถูกย่อย และดูดซึมเป็นบางส่วนโดยกรดเกลือในกระเพาะอาหาร เอนไซม์ในน้ำลาย และน้ำย่อยในกระเพาะ ซึ่งเป็นที่มาถึงเรื่องของ การลดไขมันและน้ำหนักในคนของไคโตซาน อ้างอิง
ดร. อัธยา กังสุวรรณ สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง
ไคติน ไคโตซานสำหรับการรักษาแผล ไคตินไคโตซานเป็นวัสดุจากธรรมชาติที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมหลายๆ ด้าน ได้แก่ การเกษตร อาหารสัตว์ อาหารเสริม เครื่องสำอาง และเวชภัณฑ์ จากผลการทดสอบกับ Mammalian cell lines (L929 และ BHK)(1) จะเห็นได้ว่าไคติน ไคโตซานที่มี % DD ต่างกัน ไม่เป็นพิษต่อเซลล์แต่จะสนับสนุนการยึดเกาะของเซลล์ได้ต่างกัน ซึ่งสอดคล้องกับรายงานจากนักวิจัยกลุ่มอื่นที่ทำการทดลองโดยใช้ Human Fibroblasts มีรายงานว่า ไคโตซานที่มี % DD สูงกว่าจะสนับสนุนการยึดเกาะของเซลล์ (cell adhesion) มากกว่าและกระตุ้นการเจริญได้มากกว่าตัวอย่างที่มี % DD ต่ำกว่า (2-3) นอกจากนี้ Ueno และคณะรายงานว่าไคโตซานสามารถกระตุ้น Macrophages ให้ผลิต Transforming Growth Factor-Beta 1 (TGF-b1) และ Platelet-Derived Growth Factor (PDGF) ซึ่งกระตุ้นการสร้าง Extra Cellular Matrix (ECM) ในกระบวนการสมานแผล จากผลการศึกษาเหล่านี้เสนอหรือชี้ให้เห็นว่า ไคโตซานที่มี % DD สูงมีความเข้ากันได้กับเซลล์มากกว่า % DD ต่ำ และน่าจะกระตุ้นการเจริญของเซลล์ Fibroblasts บริเวณบาดแผลในชั้นหนังแท้ ทำให้การสมานแผลเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น
อ้างอิง ดร. มาลินี ประสิทธิศิลป์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
อุตสาหกรรมการบำบัดน้ำ ไคโตซานเป็นพอลิเมอร์ที่มีประจุบวกบนโมเลกุล ปริมาณและประสิทธิภาพของประจุบวกนี้ ขึ้นอยู่กับสภาวะความเป็นกรด-ด่างของสารละลายไคโตซานสามารถทำหน้าที่เป็นตัวรวมตะกอนที่แขวนลอยในน้ำเสียได้ดีและใช้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ ในการรวมตัวของโปรตีนที่แขวนลอยให้เกิดเป็นกลุ่มตะกอนและตกแยกตัวออกจากน้ำได้ อีกทั้งตะกอนที่แยกออกมาได้ สามารถนำไปใช้ต่อเป็นอาหารสัตว์หรือนำไปหมักต่อเป็นปุ๋ยชีวภาพได้ ในการทำลายสภาพคอลลอยด์ในน้ำเสีย ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ ขั้นแรกการรวมตะกอน (coagulation) และขั้นที่สองคือการแยกตะกอนออกจากน้ำ (Flocculation) ในขั้นตอนแรกเกิดขึ้นจากกระ บวนการลดแรงที่ยึดระหว่างอนุภาคที่แขวนลอยลงให้มากที่สุด หรือการทำให้ประจุบนสารแขวนลอยเป็นกลางนั่นเอง ซึ่งไคโตซานจัดเป็นพวก Polycathionic Coagulant ที่ดีและมีประสิทธิภาพสูงมาก จากนั้นอนุภาคที่ถูกทำให้เป็นกลางแล้ว จะค่อยๆ ถูกนำเข้ามาอยู่ใกล้กันรวมกลุ่มใหญ่ขึ้น และแยกตัวออกจากน้ำ ซึ่งคือกระบวนการ Flocculation นั่นเอง กลไกในการเกิด Flocculation ของพวกโปรตีนและไขมันขึ้นอยู่กับค่า PKA ของหมู่อะมิโนที่อยู่บนสายโซ่ของไคโตซานเป็นสำคัญ ฉะนั้น การจัดสภาพความเป็นกรด-ด่าง ในการตกตะกอนน้ำเสียที่มีสภาพเป็นคอลลอยด์จึงเป็นหลักการที่สำคัญที่สุด
อ้างอิง ผศ. สุวลี จันทร์กระจ่าง
ด้านอาหารเสริม ไคติน ไคโตซานเป็นสารธรรมชาติที่มีโครงสร้างโมเลกุลคล้ายเซลลูโลสสามารถลดปริมาณคอเลสเตอรอลชนิด LDL และไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดโดยการจับตัวกับไขมันจากอาหารทำให้การดูดซึมไขมันในลำไส้เล็กลดลง ควบคุมน้ำหนักโดยการจับตัวกับไขมันจากอาหารที่รับประทานเข้าไปให้เป็นกากอาหารทำให้การดูดซึมไขมันต่ำลง ซึ่งเป็นที่สนใจมากในกลุ่มวัยรุ่นและสุภาพสตรี คอเลสเตอรอลเป็นไขมันที่ทราบกันดีว่าหากร่างกายมีมากเกินไปอาจจะทำให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบได้ คอเลสเตอรอลจะเคลื่อนที่ไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ ด้วยไลโพโปรตีน (Lipoprotein) ซึ่งได้แก่ HDL และ LDL การแพทย์พบว่าคอเลสเตอรอลชนิด LDL จะเกาะตัวที่ผนังหลอดเลือดหัวใจทำให้เส้นเลือดตีบตันเกิดเป็นโรคหัวใจ มีรายงานการทดลองให้ผู้ชายอาสาสมัครที่มีสุขภาพแข็งแรง จำนวน 8 คน ทดลองรับประทานไคโตซานในรูปของขนมปังกรอบปริมาณ 3-6 กรัม/วัน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ พบว่า ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดเฉลี่ยลดลงจาก 188 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เป็น 177 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และมีประมาณ HDL-คอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้น
อ้างอิง ดร.มาลินี ประสิทธิ์ศิลป์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
ไคโตซานกับการต้านการเจริญเติบโตของจุลชีพ % DD มีผลต่อการละลาย ความสามารถในการจับไอออนและสมบัติทางกายภาพและชีวภาพอื่นๆ ของไคโตซาน จากการทดลองพบว่า %DD ของไคโตซานที่นำมาใช้ก็มีผลต่อคุณสมบัติการยับยั้งหรือต้านการเจริญของจุลชีพเช่นกัน โดยพบว่าเมื่อใช้ไคโตซานในการยับยั้งการเจริญของเชื้อ Escherichia coli จะต้องใช้ไคโตซานที่มีความเข้มข้น 0.1% หากไคโตซานมี % DD เท่ากับ 80-85 % แต่หากใช้ไคโตซานที่มี % DD เท่ากับ 90-95 % จะสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ E. Coli ได้ที่ความเข้มข้นเพียง 0.0075% เท่านั้น ดังนั้นจึงอาจสรุปได้คร่าวๆ ว่า ไคโตซานจะมีความสามารถในการยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียได้ดีขึ้นเมื่อ % DD ของไคโตซานเพิ่มขึ้น
อ้างอิง ดร.รัฐ พิชญางกูร ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้านอุตสาหกรรมการเกษตร ไคโตซานใช้เป็นตัวเชื่อมในการเคลือบเมล็ดพันธุ์เพื่อช่วยในการยับยั้งเชื้อรา ปกป้องพืช ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น รักษาเมล็ดพันธุ์จากโรคและแมลง เคลือบผลไม้เพื่อป้องกันเชื้อราและยืดอายุการเก็บผลไม้ให้นานขึ้น ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืช สารละลายไคโตซานใช้เคลือบอาหารสัตว์เช่น กุ้ง ทำให้อาหารละลายในน้ำช้ากว่ากำหนด เร่งการเจริญเติบโตของกุ้ง สร้างสุขภาพกุ้งให้แข็งแรง